Toggle navigation
ผลงาน
บทความ
ติดต่อ
ANUKUL
PORT.COM
อยากเขียนโปรแกรมเป็น ต้องเก่งคณิตศาสตร์ไหม?
วิธีบน เรานับสินค้าทีละชิ้น ทุกชิ้นที่นับไปก็ทำการบวกราคาไปเรื่อยๆ ทีละ 10 บาท ถ้าเป็นคนก็จะเหนื่อยหน่อย แต่นี่เราให้คอมพิวเตอร์นับให้ วิธีล่าง เราหักสินค้าชิ้นแรกออกไปก่อน แล้วนำจำนวนชิ้นที่เหลือไปคูณ 10 บาท จากนั้นค่อยบวกค่าขนส่งชิ้นแรกกลับเข้าไป ก็จะได้ผลลัพธ์ ถามว่าไปถึงเป้าหมายเหมือนกันไหม เหมือนกันนะ แต่ผลกระทบจะไม่เหมือนกัน วิธีบนลองนึกภาพว่า สินค้ามีล้านชิ้น คอมพิวเตอร์ก็ต้องบวกเลขล้านรอบเช่นกัน ถ้าเป็นระบบใหญ่ที่มีคนใช้จำนวนมากระบบจะกิน resource มากขึ้นเป็นเงาตามจำนวนชิ้น แต่วิธีล่าง เราใช้ตรรกศาสตร์และคุณสมบัติของคณิตศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือ การคำนวณเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ถ้าจำนวนมีเป็นล้านชิ้นก็จะกิน resource น้อยกว่าวิธีบนแบบมหาศาล โค้ดก็สั้นกว่า ปัญหามีอย่างเดียวคือ ดูหนแรกเลย ยากที่จะเข้าใจ ไม่เหมือนวิธีบนที่ดูแล้วเข้าใจทันที ถ้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ไม่เป็นไร วิธีไหนก็ได้ทำๆไปเถอะ ให้งานมันเสร็จ แต่ถ้าอยากไปได้ไกลกว่าปัญหาที่เห็นอยู่ตรงหน้า ทฤษฎีก็เป็นอะไรที่สำคัญมาก ที่มาของภาพและแรงบันดาลใจให้อยากเขียน: https://www.facebook.com/KunKode/photos/a.108315604420683/146906180561625
27 12 2020
1404
อ่านก่อนซื้อ PS4, Nintendo Switch, PC
เนื่องจากตอนนี้ PS4 กำลังเข้าสู่ช่วงท้ายเจเนเรชั่นของมัน และราคาก็ลดกันถล่มทลาย ทำให้เพื่อนๆโทรมาปรึกษาผมเป็นอันมาก เป็นต้นว่า "ควรซื้อ PS4 หรือไม่" "แล้ว Switch เป็นอย่างไร น่าเล่นรึเปล่า" "แล้วถ้าเทียบกับ PC เป็นอย่างไรบ้าง" และอีกหลายคำถาม นานานัปการ ก็ธรรมดานะครับ เวลาเราตอบคำถามหลายๆ คนซ้ำๆ มันก็จะเกิดอารมณ์แบบว่า เอาแล้วหล่าว อธิบายกันเหนื่อยหล่าว คำถามก็ซ้ำๆ เดิมๆ ถามเรื่องความคุ้มค่าเป็นสำคัญ เกมไรสนุกมั่ง เอาเป็นว่าจะพยายามรวบรวมทุกคำถามไว้ให้ในนี้ทีเดียว เผื่อเป็นวิทยาทาน ----- ต้องรู้ก่อนว่าจะเล่นเกมอะไร ก่อนอื่นเลย สิ่งแรกที่ต้องคำนึงในการจะซื้ออุปกรณ์สำหรับการเล่นเกมคือ "คุณจะเล่นเกมอะไร" ทุกคนส่วนมากที่มาปรึกษา มักจะมีปัญหาเหมือนๆกัน ก็คือ "อยากได้เครื่องเล่นเกมมากกว่าตัวเกม" "กูอยากได้ PS4 ว่ะ" แต่พอถามกลับไปว่า "แล้วมึงจะเอามาเล่นเกมอะไร" บางคนก็ตอบได้ แต่หลายๆคนก็ตอบไม่ถูก จริงๆแล้วไม่ว่าเราซื้อเครื่องเล่นเกมอะไรมา สิ่งที่เราจะต้องอยู่กับมันไปอีกนานแสนนานตลอดเวลาที่เราเล่นมันก็คือตัวเกม เพราะงั้นก่อนซื้อเครื่องเล่นเกม พยายามมีเป้าหมายไว้ในใจก่อนนะครับ ว่าคุณอยากเล่นเกมไหน จะทำให้เรากำหนดเป้าหมายของการซื้อได้มากโขเลย (ตัดช้อยส์นั่นเอง) เช่น ถ้าคุณเป็นคนชอบเล่นเกมโปเกม่อน ถ้าแบบนี้ตัดจนเหลือช้อยส์เดียวเลยก็คือ Switch หรือ อยากเล่น God of war แบบนี้คุณก็ไปไหนไม่ได้นอกจาก PS4 แล้วถ้าเราไม่รู้เลยว่าจะเล่นเกมอะไร ทำไงดี เปิด youtube เลยครับ channel ที่จะป้ายยามีอยู่เต็มไปหมด หรือถ้าขี้เกียจนั่งไล่ดู vdo ก็ไลค์เพจเกมไว้ก็ได้ เกมอะไรถ้าเป็นข่าว หรือคอมเมนท์เยอะๆ ก็แปลว่าเกมนั้นน่าจะอยู่ในกระแส แล้วค่อยไปค้นดูใน youtube อีกที ว่าเราอยากเล่นเกมนี้หรือไม่ ยกตัวอย่างซักเพจสองเพจก็ GamingDose กับ OnlineStation แต่หลังๆนี้ เท่าที่สังเกตคือเกมต่างๆมักจะลงกันหลายเครื่อง เช่น เกม Hollow Knight ลงสามเครื่องเลย ทั้ง PC, PS4, Switch ก็ถ้าเป็นแบบนี้เลือกเครื่องที่เราถนัดได้เลยครับ และมีประเด็นใหญ่อีกอย่างคือ หลายๆคนชอบเกมยิงแนว FPS หรือเกมอะไรก็แล้วแต่ที่ต้องเล็งปืนไปหาศัตรูแล้วเหนี่ยวไกยิง ถ้าชอบแนวนี้ และคิดจะเล่นเป็นหลักเลย ผมขอแนะนำว่าให้ไปทาง PC จะเวิ้กกว่านะครับ ไม่ใช่ว่า console จะเล่นไม่ได้ แต่การควบคุมเกมยิงด้วย joystick เป็นอะไรที่ต้องให้เวลากับมัน และยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่าง คุณจะไม่สามารถหันปืนแบบปุบปับได้ และการจะส่ายเป้าให้ตรงตัววัตถุก็ไม่ง่ายนักสำหรับมือใหม่ ยิ่งถ้าเป้าหมายอยู่ไกลๆ ละเอียดๆ ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย เดี๋ยวจะพาอารมณ์เสียไปซะก่อน สมรรถภาพเครื่อง อันดับสองคือเรื่องประสิทธิภาพและราคาของแต่ละเครื่องที่คุณต้องรู้ไว้ ซึ่งจะส่งผลกับบรรยากาศในการเล่นเกม เรื่องภาพ แน่นอน PC มาเป็นที่หนึ่ง แต่ก็ขึ้นกับเงินที่คุณลงไปในตัวมันด้วย ลงเงินเยอะ การ์ดจอดี แรมเยอะ CPU ดี ก็แน่นอนว่าภาพยิ่งสวยและยิ่งลื่น ซึ่งเอาแบบโหดๆเลยก็ไปได้เรื่อยๆจนถึงแสนแหละ ส่วนแบบทั่วๆไปก็ราว สองถึงสามหมื่น ข้อดีของ PC ที่เครื่องอื่นสู้ไม่ได้เลยคือ มันสามารถทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการเล่นเกมได้อีกด้วย เช่น ทำงาน พิมพ์งาน ประมวลผล เขียนโปรแกรม ฟังเพลง ดูหนัง ในขณะที่เครื่องคอนโซลต่างๆแบบ PS4, Switch จะมาเป็นรองในเรื่องภาพ แต่ก็แน่นอนว่าโดยรวมราคาถูกกว่ามาก ไม่เหมาะกับการเอามาทำงาน เหมาะกับเรื่องบันเทิงเท่านั้น คือ เล่นเกม ดูหนังฟังเพลง ตรงนี้ก็ต้องคำนวณกำลังเงินและไลฟ์สไตล์ของคุณดูว่าเป็นแบบไหน และเลือกให้ดี มีเพื่อนผมคนหนึ่งเป็นเซลล์ที่เดินทางต่างจังหวัดบ่อยมาก สุดท้ายไปจบที่เกมมิ่งโน้ตบุ๊ค ซึ่งก็เหมาะสมดี พกพาง่าย ใช้ทำงาน present งานได้ด้วย เพื่อนๆคุณเล่นเครื่องอะไร เกมเดี๋ยวนี้มักมากับระบบ co-op ที่สนุกสนานมากๆ และหลายๆเกม ไม่มีเพื่อนไม่ได้เลย เช่น Monster-Hunter, Division เป็นต้น อันนี้ก็ต้องลองถามเพื่อนกันดู ว่าเค้าอยู่กันที่เครื่องไหนเสียเป็นส่วนมาก และเขามีเวลาเล่นกับเราหรือไม่ ซึ่งถ้าซื้อมาแล้วเพื่อนทิ้งกันนี่งานเข้าเลยนะ ยิ่งถ้าเป็น PS4 การที่เรามีเพื่อนที่เล่นอยู่แล้ว จะยิ่งดีมากๆ เพราะเราสามารถแชร์เกมกันเล่นได้ โดย 1 เกมจะแชร์กันเล่นได้ 2 คน ก็ประหยัดไปมากโข รอ PS5 ดีมั้ย ณ เวลานี้ที่บทความออกมา เป็นช่วงราวๆกลางปี 2020 ซึ่งกว่า PS5 กว่าจะออกคงราวๆปลายๆปี หรือไม่ก็ปี 2021 ไปเลย เมื่อราวๆกลางเดือน มิถุนายน 2020 ทาง Sony ก็ได้เปิดตัวหน้าตาของเครื่อง และเกมจำนวนหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย โดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าซื้อ PS4 ตอนนี้ ยังคุ้มอยู่นะครับ เพราะปริมาณของเกม มากมายมหาศาลมาก ส่วนมากเป็นเกมดีๆ ทั้งนั้น หลายเกมก็เป็นเกมที่ชีวิตนี้เกิดมาควรเล่นให้ได้ ยิ่งเป็นช่วงท้ายๆ Generation ราคาก็ยิ่งลงไปอีก PS4 Pro อยู่ที่หมื่นต้นๆ ส่วน PS4 Slim ก็อยู่ราวๆไม่ถึงหมื่นหรือหมื่นถ้วน ราคาก็อาจจะลงได้อีก แต่ซื้อตอนนี้คุ้มไหม คิดว่าคุ้มครับ ประกอบกับว่า PS5 แม้จะดูน่าตื่นตาตื่นใจก็จริง แต่ปริมาณเกมยังน้อยอยู่ และหลายๆเกมก็ยังรันอยู่ที่ 30 FPS ยังไม่ได้ next gen อะไรขนาดนั้น ส่วนที่เขาบอกว่า PS5 สามารถเล่นเกมของ PS4 ได้ นั้นก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกเกมนะครับ ทางเจ้าของเกมหรือ developer ต้องมาทำการอัพเดตหรือ patch เกมให้เล่นบน PS5 ได้ด้วย เท่าที่เห็น บางค่ายก็ออกมาคอนเฟิร์มแล้วว่าสามารถเล่นบน PS5 ได้แน่ แต่หลายๆค่ายก็ยังไม่ได้ออกมาคอนเฟิร์ม และปัญหาของเครื่องเกม console เวลาออกจำหน่ายใหม่ๆ ก็มักจะพบเจอ defect ของเครื่องเป็นปกติ เช่น ปัญหาแผ่นเด้งใน PS4 รุ่นแรกๆ, เครื่องร้อนจนดับเอง, joy con ของ switch มีปัญหา, แบตเตอรี่ของเครื่องน้อยเกินไป เป็นต้น ซึ่งจะนิ่งดี ก็เมื่อทางผู้จัดจำหน่ายปล่อยรุ่น Minor change ออกมาขาย ดังนั้นก็จะเห็นว่าเวลาเข้าไปดูในเพจเกม ก็จะเห็นหลายๆความเห็นคอมเมนท์ว่า "รอรุ่นอัพเกรด" กันหลายคน ทำให้การอดทนรอ แล้วเล่นเกมบน PS4 รอจนกว่า PS5 จะหมดปัญหา ก็เป็นอีกตัวเลือกที่หลายๆคนเลือกกัน อันนี้ก็ต้องลองคิดทบทวนหลายๆ ตลบดู ส่วนตัวผมมองว่า "คุ้มทั้งสองทาง" ไม่ว่าจะเป็นการรอจน PS5 นิ่ง หรือ ซื้อ PS4 มานั่งเล่นไปพลางๆ เทศกาลลดราคา ดูเหมือนว่าเรื่องนี้ PC จะกินขาดสาย console เนื่องจากเทศกาลลดราคาและแจกเกมนี้ถือว่าเข้มข้นกว่าฝั่ง console มากๆ ทางฝั่ง PC จะมี Steam เป็นเจ้าหลักในการจำหน่าย โดยราคาเกมจะลงมาเร็วมาก บางเกมวางจำหน่ายไม่ถึงสองเดือนก็ราคาลงแล้ว รวมถึงทุกๆสามถึงสี่เดือนก็จะมีเทศกาลลดราคามาทำให้เราเสียทรัพย์กัน เพราะราคาลงมาเยอะมากๆ และยังมี Epic game store ที่ป๋าเหลือเกิน โดยทำการ random เกมมาแจกฟรีทุกสัปดาห์ ในขณะที่ฝั่ง console ก็จะเขินๆในเรื่องนี้หน่อย เนื่องจาก Playstation Store ก็แจกเกมฟรี เดือนละ 2 - 4 เกมทุกเดือน แต่ก็ต้องแลกมากับการเติม Ps Plus (Air time รายเดือน ทำให้เราเล่นเกมกับเพื่อนผ่านระบบ Online ได้) โดยจะเป็นเกมใหญ่ 1 เกม และเกมเบาๆอีก 2 เกม ก็โอเค พอรับได้ การลดราคาก็ไม่ได้กระหน่ำเหมือนฝั่ง PC เขา เกมที่จะลดเยอะหน่อย มักจะเป็นเกมที่ออกมานานแล้ว และบางเกมก็ต้องรอกันครึ่งปีถึงปีนึง กว่าจะเริ่มลด ส่วนเจ้า Swich นี่หนักเลย ถ้าอยากได้เกมดังระดับแม่เหล็กที่ราคาถูก เหมือนจะมีแค่สองทางคือ ซื้อแผ่นมือสอง หรือ มุดไปซื้อเกมจากโซนที่ถูกกว่า โดยเกมที่ลดบ่อยๆ ก็จะมีแค่เกมอินดี้ อ้อ ค่ายนี้เขาไม่แจกเกมฟรีทุกเดือนเหมือนอีกสองค่ายข้างบนนะครับ (เหมือนจะแจกแต่เกมเก่าของค่าย nintendo ที่เล่นกับ emulator ได้) Air time ฝั่ง PC เขาไม่ต้องเติม Air time จะเล่นเกมผ่านระบบออนไลน์ ขอแค่คุณมีอินเตอร์เน็ตความเร็วดีๆ ก็เป็นอันจบ แต่ฝั่ง Playstation และ Nintendo นี่ ถ้าเราจะเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อน คุณต้องทำการเติม Air time นะครับ โดยเมื่อเกมจะเข้าสู่โหมดออนไลน์ปุ๊บ หน้าจอขายตรงก็จะเด้งมาบอกคุณว่า "ถ้าจะเล่นกับชาวบ้านชาวช่องเขา ก็เติมซะดีๆ" ฟังดูเหมือนจะน่ากลัว แต่สนนราคาก็ไม่ได้โหดร้ายนัก โดย Ps Plus เนี่ย ถ้าซื้อรายปี ตกเดือนละไม่ถึงร้อย (บางทีมีโปรอีก ผมเพิ่งต่อไปอีก 1 ปี 800 กว่าบาท ตกเดือนละ 70 กว่าบาท) แและมีเกมแจกฟรี อีกเดือนละ 2 - 4 เกมฟรีๆ ฝั่ง Nintendo ก็จะเป็น Nintendo online ราคาก็ไม่แพง เดือนละไม่ถึงร้อยเช่นกัน งั้นเลือกทางไหนดี ถ้าทนอ่านมาถึงตรงนี้ได้ ผมคิดว่าหลายๆคนน่าจะตัดช้อยส์ไปพอสมควร ผมมองว่าสิ่งที่เป็นตัวแปรหลักๆเลยก็คือ เกมที่จะเล่น ไลฟ์สไตล์ และเพื่อนๆของเรา พยายามคิด 3 ข้อนี้ให้ตกก็จะเลือกเกมเล่นได้ง่ายขึ้น แล้วถ้าเป็นผมจะเลือกช้อยส์ไหน ผมคิดว่า หากเป็นคนที่ทนรอได้ 1. หาเครื่อง PS4 มือสองที่ยังเหลือประกันอยู่ เลือกเอาที่สภาพดีๆ จัดมาเล่นแก้อยาก และรอจนกว่า PS5 จะเสถียรขึ้นแล้วค่อยจัด PS5 2. รวมถึงจัด Nintendo Switch กล่องแดงมาอีกเครื่อง เพื่อจะได้เล่นเกมดังระดับแม่เหล็กของวงการได้ครบถ้วน หากเป็นคนที่ทนรอไม่ได้ ตื่นเต้นเมื่อเห็นเกมใหม่ อยากลองก่อนคนอื่น มีความสุขเวลาได้ไปพูดคุยกันเรื่องเกมใน community ต่างๆ 1. PS4 จะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ แล้วแต่ความชอบ และจัด PS5 ทันทีเมื่อวางจำหน่าย อย่างไรก็ดี สภาพการเงินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อันนี้ผมก็คิดในมุมมองมนุษย์เงินเดือนต่างจังหวัด สำหรับใครที่รายได้ดีถ้าคิดว่ามีเงินมากพอที่จะละลายไปกับมันได้ หรือมีญาติๆลูกพี่ลูกน้องที่จะรับมรดกของเราต่อไปได้อย่างไม่เสียดาย จะจัดตัวท็อปของแต่ละค่ายมาเลยก็ดี ใช้เงินแก้ปัญหาไป Happy playing & shopping ครับทุกท่าน
15 06 2020
2225
โปรแกรมเมอร์สายโรงพยาบาล
เผื่อใครสนใจจะทำงานโปรแกรมเมอร์สายรพ. ว่าลักษณะงานเป็นอย่างไรบ้าง 1.รับผิดชอบดูแล software ERP ของรพ. คุณต้องดูแลและแก้ปัญหาเบื้องต้นได้ ถ้าไม่ทราบ โทร consult กับ outsource ที่เราซื้อ software มาได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร เราจะเป็นหน้าด่านแรกเสมอ ทีนี้เนื่องจากรพ.มีหลายแผนก software ก็มีหลายหน้าให้เข้ากับบริบทการทำงานแต่ละแผนก เช่น เวชระเบียน ห้องแพทย์ ห้องยา การเงิน เป็นต้น บางเจ้ามีมากกว่านี้อีก แต่หลักๆ 5 ตัวนี้ต้องมี ปัญหาจะมากน้อย จะมีการโทรมาเท่าไหร่ อยู่ที่ว่ารพ.คุณใหญ่แค่ไหน รพ.ใหญ่มาก ผู้ป่วยก็มาก ปัญหาก็มากตาม และแน่นอน รพ.ทำงาน 24 ชั่วโมง คุณก็อาจจะต้องมีหน้าที่อยู่เวรด้วย ค่าเวรก็แล้วแต่ตกลงกัน หรือจะคิดเป็น onCall แล้วแต่นโยบาย แต่เชื่อผมเถอะ แรกๆเราอาจจะดีใจที่ได้เงินเพิ่ม แต่พอนานๆไป คุณจะไม่อยากได้หรอก ตรงนี้ถ้าเราไม่ได้ดูแลคนเดียว ก็โชคดี ถือว่าได้งานสบาย มีคนแบ่งเบาภาระ 2.ซอฟต์แวร์อะไรที่เราไม่ได้ซื้อ และไม่ได้พัฒนายากจนเกินไปนัก เป็นหน้าที่ที่เราต้องพัฒนา ระบบแจ้งซ่อม ระบบงานคุณภาพ ระบบเก็บข้อมูลโน่นนั่นนี่ตามแต่เขาจะสั่งมา ลงลึกให้อีกนิดคือส่วนมากจะไม่ได้พัฒนา software กันเป็นทีม โปรแกรมนึงคุณก็เหมาไปเลย กลายเป็น full-stack แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว 3.ถ้านโยบายไม่ได้แยกให้ชัดเจนว่าไอทีก็ทำงานไอทีโปรแกรมเมอร์ก็ทำงานโปรแกรมเมอร์ เราก็มีหน้าที่ต้องซ่อมอุปกรณ์ด้วย พวกปริ๊นเตอร์ ซ่อมคอม ลงวินโด้ว์ รวมถึงอุปกรณ์ network ด้วย อันไหนอยู่ในประกันก็ถือว่ารอดตัวไป 4.รพ.เป็นหนึ่งธุรกิจที่มีนโยบายทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ อยู่ๆไปซักพักก็จะมีพวกนโยบายใหม่ๆมาประกาศใช้ให้รพ.ต้องมี ซึ่งก็จะมี software ติดมาให้ใช้ด้วย เราก็มีหน้าที่ต้องเรียนรู้อบรมดูแลด้วย เอาที่เห็นๆกันเลยก็สิทธิ์ UCEP, พรบ.รถ, สิทธิ์เบิกจ่ายต่างๆ, ประกันสังคม, 30บาท ที่ผมว่ามานี้มีซอฟต์แวร์จากส่วนกลางมาให้ เราก็ต้องเรียนรู้และแก้ไขปัญหาเมื่อ user ติดปัญหา 5.ดูแลรักษาข้อมูล พวกระบบ backup ต้องมี, server ร่วง เราต้องแก้ไขได้, ระบบล่มต้อง restore ข้อมูลกลับมาได้, สิ้นปีงบประมาณจะต้องมีการทำรายงาน เราก็มีหน้าที่ต้องเขียน sql ดึงรายงานออกมาให้แผนกที่เกี่ยวข้อง(ก็แน่นอนว่าเราต้องเอา dataDic จาก outsource มากางดู) และรักษาข้อมูลที่เป็นความลับทั้งหลายเหล่านี้ วันดีคืนดีก็จะมีเจ้าหน้าที่หรือคนไข้มาเลียบๆเคียงๆขอข้อมูล ก็ต้องทำตามนโยบาย สรุป skill ที่ต้องมีก็คือ 1. เขียนโปรแกรมต้องได้ ทั้ง back-end front-end 2. ฐานข้อมูลต้องได้ 3. business logic ของรพ.ต้องได้ 4. เข้าใจและอดทนต่ออารมณ์ของเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานได้ (คนทำงานบริการทางการแพทย์ส่วนมากความเครียดสูง) 5. เน็ตเวิร์ก ถ้าได้จะเป็นแต้มต่อ 6. ซ่อมคอม ได้หรือไม่ได้แล้วแต่นโยบาย เรื่องเงินเดือนขอให้ทำใจ เนื่องจากเราอยู่ในธุรกิจที่โปรแกรมเมอร์ไม่ได้เป็นพระเอก ยังไงๆเราก็จะมีเพดานอยู่ประมาณหนึ่ง ส่วนข้อดีคือ ถ้าเราทนได้และทำงานได้ดีจนบุคลากรส่วนใหญ่ชอบแล้ว ก็สามารถทำได้ยาวๆโดยไม่ต้องกลัวตกงาน เพราะเราไม่ใช่ "อะไหล่ทั่วๆไปที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด" และรพ.เป็นธุรกิจที่ demand over supply ไม่เจ๊งง่ายๆแน่นอนครับ อ้อ และทำแล้วคุ้มไม่คุ้มนี่ผมไม่ขอตัดสินนะครับเพราะมีปัจจัยต้องคิดอีกหลายอย่าง รวมถึงตัวแปรในชีวิตของแต่ละคนด้วย ผมเองเคยเจองานลักษณะนี้มาแล้วและช่วงนั้นตัดสินใจยากมาก จึงอยากบอกเป็นข้อมูลไว้ เผื่อคนรุ่นหลังจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้น
30 05 2020
4867
ทำไม Division 2 ถึงเป็นเกมที่น่าเล่น
ทำไม Division 2 ถึงเป็นเกมที่น่าเล่น จริงๆ เกมมันก็ออกมาได้ประมาณปีกว่าๆ แล้วล่ะนะ แต่ดูเหมือนการลดราคาและ DLC Newyork ที่เพิ่งออกมา ถึงได้กลับมามีความนิยมอีกรอบ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ถึงแม้ DLC จะไม่มา มันก็ยังเป็นเกมที่น่าเล่นอยู่ดี เพราะอะไรมาดูกัน 1. รูปแบบ map ขอเปรียบเทียบกับเกม Anthem ซึ่งแผนที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ไพศาล โดย Division 2 จะมีขนาดแผนที่ที่เล็กกว่า ฟังดูเผินๆ เหมือนจะแย่กว่า แต่ถ้าลองได้เล่นจะพบว่านั่นคือขนาดที่เหมาะสมแล้ว ไม่ต้องเพ่งดูเป้าเล็กที่อยู่ไกลๆ และถึงจะอยู่ไกล แต่ปืนโดยมากก็ยิงโดนหมด ทำให้คนที่มีปืนแนวที่ตนเองชอบไม่ต้องเปลี่ยนปืนไปมาบ่อยๆ (ผมเอา subMachineGun สอยศัตรูไกลๆ ประจำ แต่จะไม่รวดเร็วเท่าพวก Rifle นะ) ซึ่งถ้าเทียบกับ Anthem แล้วจะพบว่าบางทีศัตรูอยู่ไกลมาก กว่าจะยิงโดน ต้องถ่อเหาะเข้าไปใกล้ๆไปยิง 2. ปรับปรุงข้อเสียและกราฟฟิกจากภาคแรกค่อนข้างเยอะ - อย่างแรกคือภาพดีขึ้น และยิ่งหลักจากช่วงเบต้าไป ยิ่งดีเข้าไปอีก - ถัดมาคือพวกบอท บอทภาคแรกหากเป็นพวก elite นี่กดกันเข้าไปเป็นสิบแม็กกว่าจะเอาลง แต่ภาคนี้เอาลงง่ายกว่าเดิมเยอะ ซึ่งถึงแม้จะอึดน้อยลง มันกลับฉลาดขึ้น เช่น ถ้ามันแอบอยู่ใน cover แล้วเรายิงใส่มัน มันจะมุดหัวอยู่ใน cover นานมากๆ ทำให้เราต้องลำบากย้ายมุมยิง หรือการบุกของมัน ที่จะกระจายกำลังกันเข้ามาหาเราแล้วตีโอบด้านข้าง - ปืนมีมากมายหลายยี่ห้อหลายแบบ ให้เราได้ลองเยอะมากๆ แต่ละปืนก็จะต่างกันไป เช่น ปืนนี้ดาเมจเบา แต่สาดกระสุนได้เยอะมากๆในช่วงเวลาสั้นๆ, ปืนนี้แรงแต่ถีบ, ปืนนี้เบาแต่นิ่ง, ปืนนี้สมดุลดี, ปืนนี้ยิงใกล้ๆโคตรแรง แต่ไกลๆไม่เวิ้ก - ซึ่งปืนไหนไม่โดนใจบางส่วนยังไม่เป็นไร เราสามารถหา mod เช่น ลำกล้อง เลเซอร์ แม็กกาซีนยาว มาโมเพิ่มความสามารถ กลบจุดด้อยเสริมจุดเด่นให้กับปืนของเราได้ - และเจ้า mod พวกนี้ไม่ได้มีขายตามร้านเหมือนภาคแรกอีกต่อไป ได้มาจาก Blueprint ซึ่งเป็นของรางวัลจากเควสย่อย ทำให้เราสนุกกับการฟาร์มของพวกนี้และติดหนึบเกมมากขึ้น - เควสแต่ละเควสก็มีความน่าสนใจมี gimmick ในแต่ละเควสพอสมควร ไม่ซ้ำซากแบบภาคแรกอีกแล้วที่เอาแต่ไปช่วย JTF ซ้ำๆ ส่วนตัวผมชอบเควสที่หมุนหอดูดาว แล้วลงไปเจอบอสที่เดินเปิดตัวออกมาแบบไฟลุกด้านหลังยังกะหนังอาหลอง - นอกจากเควสหลักเควสย่อยแล้ว ก็จะมีเควสยึดแผนที่คืนจากพวกเหล่าร้าย ในเกมจะเรียกว่า Control point ซึ่งเมื่อยึดได้แล้ว เราจะมีสิทธิ์ได้เปิดกล่องปืนและกล่องเสื้อผ้าลุ้นของอีกวันละ 1 ครั้ง พอครบ 24 ชั่วโมงก็มาเปิดใหม่ 3. เกมยิง และแต่งตัว ภาคนี้มีของแต่งตัวให้เยอะมาก ถึงแม้จะต้องเติมเงินบ้าง แต่สำหรับสายฟรี ก็จะมีเหรียญฟรีให้ไปเปิดกล่องอยู่เรื่อยๆ 4. ความยาก ถึงแม้บอทจะอึดน้อยลง แต่น่าแปลกที่มันกลับเก่งขึ้น และทำให้เราเล่นได้ลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าไม่ไหว แนะนำให้ลองชวนเพื่อนมาเล่นดู ความยากจะทำให้เกมนี้สนุกอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว ยิ่งถ้ามีเพื่อนนิสัยล่กๆ จะสนุกมากเลย 5. สกิล มีหลายสายมากขึ้น ตอนนี้ถ้ารวมสกิลจาก DLC ก็จะมี 11 สาย และในแต่ละสายก็จะมี variation แยกไปอีก 3 - 5 สายอีก ทำให้เราประยุกต์ตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ได้ดีขึ้นและสนุกขึ้น - ภาคนี้ สกิลและเสื้อผ้าบางชิ้นสามารถเสริม mod ได้ด้วยนะครับ และ mod ที่ใส่ให้กับสกิลนี่ไม่ใช่แบบบวกดาเมจ ลดคูลดาวน์ธรรมดาๆนะ บางอันถึงขั้นทำให้สกิลก้าวกระโดดเลย เช่น mod cluster bomb ที่เพิ่มจำนวนระเบิดอีก 1 ลูก (ไม่ mod ก็แรงจะบ้าอยู่แล้ว) - นอกจากนั้นแล้ว เมื่อเลเวลพ้น 30 ไปแล้ว เราจะสามารถเลือก skill specialized ได้อีก 1 สกิล ทำให้เราสามารถถืออาวุธประจำสาย specialized ได้อีก 1 อย่าง ทำให้เกมยิ่งมันส์เข้าไปอีก 6. มีระบบ clan ที่ทำให้กลุ่มผู้เล่นมีเป้าหมายร่วมกัน โดยระบบจะให้ภารกิจของ clan มาจำนวนหนึ่ง หากสมาชิก clan ทำภารกิจประจำสัปดาห์ได้ จะได้ exp มาจำนวนหนึ่ง และเมื่อ exp สูงถึงระดับหนึ่ง ก็จะได้รางวัลเป็นอาวุธหรือเสื้อผ้าระดับสูงร่วมกันทั่ง clan 7. มีระบบ raid หรือเควสระดับสูงที่ต้องอาศัยการร่วมมือร่วมใจของคน 8 คนหรือมากกว่า เพื่อให้ภารกิจสำเร็จและได้รางวัลแบบสุดยอด เอาเป็นว่ามันเป็นเกม looter shooter ที่ดี แนะนำให้หามาเล่นกันนะครับ
04 03 2020
1921
นักศึกษา มอ. จงใช้! PSU SIS Class Schedule Creator เครื่องมือในการทำตารางเรียนแบบอัตโนมัติ
ย้อนกลับไปปี 2549 ก่อนหรือหลังจากนักศึกษามอ.อย่างผมลงทะเบียนเรียน สิ่งที่ต้องทำต่อจากนั้นคือ เอารายวิชาที่ลงทะเบียนทั้งหมดมาทำตารางเรียน ซึ่งก็ใช้ปากกานี่แหละครับ เขียนๆลงเศษกระดาษเอา ใครหรูหน่อยก็ทำใส่ microsoft word แล้วปริ๊นท์ เสียสองบาทให้ร้านถ่ายเอกสารใต้หอ ส่วนถ่ายรูปด้วยมือถือเก็บไว้รึ อย่าหวัง ยุคนั้นใครมีโทรศัพท์มือถือที่มีกล้อง บ้านมันต้องรวย แต่พอยุคนี้ ยุคที่อะไรก็สมาร์ทไปเสียหมด นักศึกษาปีหลังๆ ก็ไม่ต้องมานั่งเอาปากกาจดตารางเรียนอีกต่อไป ด้วย chrome extension ชื่อว่า "PSU SIS Class Schedule Creator" การทำตารางเรียนของนักศึกษามอ.ก็เลยง่ายประดุจหายใจ (ขนาดนั้นเชียว แต่เชื่อเถอะว่ามันง่ายจริงๆ) การติดตั้ง แค่เพียงคุณเปิดบราวเซอร์ Chrome แล้วเข้าไปที่ https://chrome.google.com/webstore/detail/psu-sis-class-schedule-cr/kjhgfgkdpehagjnbohklbconeknooaci?hl=th จากนั้นทิ่มเปรี้ยงไปยังปุ่ม "เพิ่มใน Chrome" ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพร้อมใช้งาน วิธีใช้งาน หลังจากที่คุณตบตีแย่งชิงลงทะเบียนแข่งกับเพื่อนนักศึกษาคนอื่นเสร็จสิ้นครบถ้วนทุกวิชาแล้ว ให้ไปยังหน้าเว็บ sis ที่แสดงทุกรายวิชาที่คุณลงทะเบียนไว้ จากนั้นคลิกขวา จะเห็นว่ามีเมนู "สร้างตารางเรียนจาก SIS PSU" ให้คลิกมันซะ ก็จะเห็นตารางเรียนของเราเป็นรูปเป็นร่างพร้อมสำหรับเอาไปใช้งานแล้ว เย้ ทีนี้ก็แล้วแต่คุณเลยครับ จะกดดาวน์โหลด จะแคปเจอร์ส่งแฟน หรือใครบ้านรวยโทรศัพท์มือถือมีกล้องก็กดถ่ายรูปเก็บไว้ (อ่อ เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มีกล้องกันทุกคนแล้วนี่เนอะ โทษๆ) แต่เดี๋ยว! อย่ารีบร้อน จะเห็นว่าในหน้าตารางเรียนเราสามารถสุ่มแต่งแต้มเติมสีให้กับตารางเรียนของเราได้ ช่างประเสริฐเสียนี่กระไร จงกดใส่สีโดยพลัน (นี่ถ้าเป็นยุคผม ต้องเดินฝ่าหมายิกที่ประตูร้อยแปดร้อยเก้าไปซื้อสีมาระบายนะ) ค่าใช้จ่าย ไม่มี! ใช้ฟรีไม่ต้องจ่ายสักบาท พอดีคนที่เค้าจัดทำโปรแกรมตัวนี้เป็นคนใจบุญน่ะครับ เป็นรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่ามอ. อย่างไรก็ตามถ้าอยากสนับสนุน พ่อพระผู้ใจดีท่านนี้ ช่วยกันส่งต่อให้คนที่ยังไม่รู้ได้ใช้งานหรือส่งต่อให้กับรุ่นน้องของคุณกันนะครับ (เนี่ย ไอ้พวกรุ่นพี่ตัวดี ถ้าอยากหาเรื่องคุยกับน้องเฟรชชี่ที่อิ๊บไว้ ตอนนี้ได้เรื่องไปคุยละนะ) สุดท้ายนี้ พี่พ่อพระท่านนี้เขาเปิดเพจ และพร้อมช่วยเหลือน้องๆในการลงทะเบียน หรือรับฟังและแก้ไขปัญหาจากการใช้งานโปรแกรมนะครับ สามารถติดต่อพี่เขาได้ที่ https://beedev.in.th/api/sis-scheduler
18 02 2020
3666
เครื่องมือในการทำงานของข้าพเจ้า
ก็จะนั่งทอดหุ่ยพรรณาไปเรื่อยๆ นะครับ ก่อนอื่นขอออกตัวก่อนว่า ถึงแม้จะเป็นโปรแกรมเมอร์มานาน แต่ก็ค่อนข้างแน่ใจแหละว่าตัวเองไม่ได้เก่งนักหนาอะไร (สังเกตจากเวลาคุยกับเพื่อนร่วมสายอาชีพแล้วยังเอ๋อๆ) แต่เพื่อให้บล็อกไม่ว่าง รวมถึงการเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ดีก็ควรจะเขียนอะไรเผื่อแผ่ชาวบ้านเขาบ้าง เอาเป็นว่าจะพยายามเอาประสบการณ์มาเล่าให้ฟังละกันนะ Website ที่เคย dev มา ช่วงแรกๆ ก็จะเป็น html, css, php ลุ่นๆ เลย ไม่มี framework อะไรทั้งสิ้น หลังจากนั้นก็อัพเกรดขึ้นมาหน่อย เจ้านายให้ปรับหน้าตา intranet เริ่มใช้ bootstrap ชีวิตเริ่มง่ายขึ้น ทำของสวยๆ ได้โดยไม่ต้องเขียน css เอง ตอนรับงานนอกหนแรกก็เอา stack นี้ไปทำงาน โดยเขียน css เพิ่มเอง ให้หน้าเว็บตรงกับแบบที่ออกแบบมา ก็เลยเริ่มรับรู้ความยากของงานด้าน frontend ละ ส่วน script code ก็ใช้ php ลุ่นๆ เหมือนเดิม ซึ่งกว่าจะเสร็จ โอโห หมดเหงื่อไปหลายถัง โต้รุ่งไปหลายคืน ชักเริ่มรู้สึกว่าถ้าไม่ปรับเครื่องมือ เราตายแน่ๆ เลยไปหาเครื่องมือมาช่วยเขียน php ก็ประจวบเหมาะกับว่าช่วงนั้น laravel กำลังบูมแล้ว เลยมาหัดใช้ laravel โอโหอีกรอบ คือมันช่วยลดการเขียนโค้ดไปได้เยอะจริงๆ แถมลดพวกโค้ดที่จำเป็นต้องมีเพื่อ security ไปอีกเยอะ คือตอนนี้ให้กลับไปเขียน php ลุ่นๆ แบบเดิม ไม่เอาละ ล่าสุดไปเจอวิธีที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ ออกแบบใน adobe xd หรือ sketch แล้วโยนเข้า zeplin สบายเลย จากที่เมื่อก่อนต้องนั่งเดาพวก padding margin font-size ก็ไม่ต้องละ ก๊อปปี้มาได้เลย เร็วขึ้นอีกนิด นี่กำลังคิดอยู่ว่างานถัดไปจะลองใช้ tailwind css ดู เห็นเขาว่ากันว่าดี ใครเคยใช้ ให้ข้อคิดเห็นได้นะจ๊ะ Windows application ผมใช้ c# กับ vb นะครับ ตอนที่มาหัดเขียน stack นี้บอกเลยว่าชอบมาก อยากได้อะไรลากวางๆ ไม่ต้องเขียนโค้ด สบายจริงๆ พวก option ก็คลิกๆเอา เลยทำให้เราได้มีเวลาไปเขียน doc มากขึ้น แต่มันก็มีปัญหาอยู่บ้างเหมือนกัน พวก component ต่างๆนี่ properties มหาศาลมากๆ อันไหนที่ใช้บ่อยๆ ก็จำได้อยู่หรอก แต่พวกที่นานๆ ทีใช้นี่สิจะลืมเอา พอมานั่งนึกก็หงุดหงิดอยู่ ดังนั้นก็อย่าลืมเอาเวลาเขียนโค้ดส่วนนึงมาโน้ตไว้กันลืมไว้ด้วยนะ ตอนหัดใหม่ๆ ก็ใช้ component ของ visual studio นี่ล่ะ แต่พอทำงานละเอียดๆ ลึกๆ บางอย่างพวก component ที่เขาให้มาก็ไม่พอนะ ที่ทำงานเลยจัด component ของ 3rd party มาให้หนึ่งตัว ชื่อ dotnetBar ตอนได้มาใหม่ๆ นี่สนุกมาก ทำงานมีความสุข พวกลูกเล่นต่างๆ เราก็ไม่ต้องเขียนโค้ดเอง dotnetBar มีมาให้ละ แต่พออยู่ไปซักพัก งานก็ละเอียดขึ้นไปอีกทีนี้ dotnetBar ก็ชักจะเริ่มไม่ไหวละ ที่ทำงานก็เลยจัดมาให้อีกตัว ชื่อ DevExpress โอโหอีกรอบ ลูกเล่นมหาศาล ทำงานได้เยอะ มีทุกอย่างที่ software คุณภาพต้องใช้ เรียกใช้งานง่ายกว่า dotnetBar มากกกกกกกก ลดเวลาการทำงานได้แบบมหาศาล ก็เลยใช้ตัวนี้ยาวๆ จริงๆก็มีอีกตัวที่อยากลองนะ ชื่อ teletrik ไม่รู้เป็นไงบ้าง ใครลองแล้วก็เมนต์บอกได้นะครับ และคิดว่าหลังจากทำงานกับ winform มานาน เดี๋ยวก็จะขยับไป wpf ละ ล้าหลังชาวบ้านชาวช่องมานาน ได้เวลาอัพเกรดละ Database สำหรับ MySql ก็จะใช้ SqlYog อันนี้ที่ทำงานซื้อติดเครื่องเก่าไว้มานานละ ดีมากๆ ทำงานไว ไม่ติดหน้าต่างโน่นนี่มาคอยคั่นเวลารีบๆ ให้หงุดหงิดใจ แต่ถ้าเป็น mac ก็ใช้ sequel pro เลย ของดีและฟรีมีอยู่จริง ส่วน oracle ได้เคยใช้ toad ทำงาน ซึ่งรวดเร็วมาก แถมเครื่องมือครบครัน ดีกว่า gui ที่เป็น official ของ oracle เองซะอีก จบดีกว่า ขืนรู้มากกว่านี้เดี๋ยวเก่งเกิน 55 ใครใช้ stack อะไร หรือเครื่องมืออะไรบ้าง บอกเล่ากันได้นะครับ
17 02 2020
1912
เมิงไปทำตัวเองให้ดีก่อนเลย เชอะ เชอะ เชอะ
สังคมมักจะบอกเราว่า ถ้ายังทำตัวเองได้ไม่ดี ไม่ต้องไปเตือนคนอื่น คำพูดที่พอจะนึกออกก็คือ คุณไปทำตัวเองให้ดีๆ ก่อนที่จะมาเตือนคนอื่นเถอะ ซึ่งฟังดูก็เหมือนจะใช่นะ คุณยังทำตัวไม่ดี แล้วคุณจะไปสอนคนอื่นได้ยังไง ผมเองก็เหมือนคนทั่วๆไป ค่อนข้างหงุดหงิดที่มีคนที่ไม่ได้ดีเด่อะไรมาเตือนหรือให้ความเห็น แต่พอมาคิดๆ ดู หลายๆ ครั้งสิ่งที่คนที่ไม่ได้ดีเด่เหล่านี้เตือนหรือให้ความเห็น มันก็ถูกต้องนี่หว่า แล้วในเมื่อถ้าสิ่งนั้นถูกต้อง เราจะปิดกั้นตัวเองจากสิ่งที่ถูกต้องทำไม ตรงกันข้าม ผมว่าเราควรถูกเตือนหรือถูกให้ความเห็นเป็นอย่างยิ่ง จากนั้นจึงเก็บเฉพาะการเตือนหรือความเห็นที่มีคุณภาพมาใช้งาน คำเตือนและความเห็นที่มีคุณภาพจะเป็นเหมือนหินลับมีดที่ลับคุณให้คมยิ่งขึ้น "แกงส้มร้านคุณเปรี้ยวไปนะ, แกงส้มร้านคุณรสชาติต้องปรับปรุงว่ะ" ถ้าผมเป็นเจ้าของร้าน ผมว่าผมควรจะต้องปรับปรุงรสชาตินะ ไม่จำเป็นต้องให้แชมป์เปี้ยนการทำแกงส้มแห่งประเทศไทยมาแสดงความคิดเห็น หรือคุณคิดว่าผมควรเถียงลูกค้าดีว่า "ไปทำแกงส้มให้เป็นก่อน แล้วค่อยมาว่ากันใหม่" มายังฝั่งผู้ให้ความคิดเห็นบ้าง การให้ความคิดเห็นแบบธรรมดาๆสั่วๆ แบบนั้นใครๆก็ให้ได้ แต่การให้ความเห็นแบบมีคุณภาพนั้น เป็นการปฏิบัติตนที่ยากมาก ยากยิ่งกว่าการเป็นผู้รับความเห็นที่ดีด้วยซ้ำไป ความพอดี, ประมาณตนเอง, เลือกสรรคำพูด, ตรงประเด็น, สุภาพ, สร้างสรรค์, อารมณ์ขัน, มารยาท ฯลฯ มากมายจนไม่สามารถบรรยายได้หมด อาจจะไม่จำเป็นต้องครบทุกข้อ แต่ถ้าขาดมากเกินไป สิ่งที่ได้ อาจเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับคำขอบคุณ "แล้วทำไมฉันต้องให้ความเห็นดีๆ ด้วยล่ะ ลำบากต้องมาสรรแต่งคำอีก" ก็แหม ถ้าให้แล้วสังคมก็มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นน้า เป็นการฝึกและขัดเกลาตัวเองไปด้วยในตัว ดีจะตาย แถมคนที่เก่งๆ ส่วนมากเค้าก็ทำเรื่องยากกันทั้งนั้นนะครับ ปล. "อคติ" ถือเป็น Debuff อย่างหนึ่ง ถ้าเกิดขึ้นแล้ว โอกาสที่ความเห็นดีๆจะเข้าสู่สมองจะลดลงไป 80 - 100%
11 02 2020
2171
จัดทำบรรณานุกรมด้วย Zotero: Citation and Reference list
มาถึง main dish ของบทเรียนนี้ซักทีนะครับ นั่นคือการ citation ด้วยโปรแกรม Zotero นั่นเอง (การสอนในบทนี้ จะสาธิตด้วยโปรแกรม Microsoft Word 2007 นะครับ ซึ่งหากใครใช้ Microsoft Word 2010 ก็จะมีการใช้งานใกล้เคียงกัน) การ citation ในบทความทางวิชาการนั้น จะมีการเขียนอ้างอิงด้วยกันสองส่วน ส่วนแรกคือการแทรกหมายเลข index ของงานวิชาการที่เราอ้างอิงไว้ระหว่างบรรทัดของงานที่เราเขียน ส่วนที่สองจะเป็นรายการสื่อที่เราใช้อ้างอิงทั้งหมด หรือที่เรียกว่า reference list นั่นเอง 1. การ citation ระหว่างบรรทัด สมมุติว่าตอนนี้ผมเขียนรายงานออกมา 1 paragraph และมีเนื้อหาบางส่วนอ้างอิงมาจากสื่อหรืองานวิชาการนะครับ 1.1 เริ่มจากการเปิดโปรแกรม Zotero และโปรแกรม Microsoft Word ขึ้นมาครับ (ซึ่งตอนนี้ต้องมีข้อมูลสื่อต่างๆ จากบทที่แล้วอยู่ในโปรแกรม Zotero แล้วนะครับ) ย้ำนิดนึงว่า ต้องเปิดทั้งสองโปรแกรมนี้นะครับ หากเปิดแค่โปรแกรม Microsoft Word อย่างเดียว จะไม่สามารถทำการ cite ได้ครับ 1.2 ที่โปรแกรม Microsoft Word เลื่อนไปยังแถบ Add-Ins จะเห็นแถบเครื่องมือของโปรแกรม Zotero หน้าตาดังในรูป ในขั้นนี้ผมจะทำการ cite โดยใช้ปุ่มแค่สองปุ่มก่อน ส่วนปุ่มเครื่องมือที่เหลือจะสาธิตให้ดูหลังจากทำการ cite เสร็จครับ 1.3 ก่อนอื่น ให้เรานำเมาส์ไปคลิก ณ บริเวณที่เราต้องการใส่หมายเลขเพื่ออ้างอิง เพื่อเลื่อนเคอร์เซอร์ไปยังจุดนั้นครับ ซึ่งจุดที่เราคลิกนี้จะเป็นจุดที่หมายเลขถูกนำมาแสดง 1.4 จากนั้นให้ลองมองไปยังแถบเมนูในข้อ 1.2 ให้เราคลิกที่ปุ่มแรก ชื่อปุ่ม Insert Citation 1.5 เมื่อคลิกแล้ว หากเป็นการ cite ที่เป็นแฟ้มงานใหม่ จะปรากฎหน้าต่างขึ้นมาอันหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้เราทำการเลือกรูปแบบการ cite เชื่อว่าผู้อ่านหลายๆท่านในนี้น่าจะ cite กันแบบ Vancouver เสียเป็นส่วนมาก ดังนั้นในตัวอย่างนี้ผมจะ cite แบบ Vancouver นะครับ ให้คลิกที่รูปแบบที่เราต้องการ cite แล้วคลิกปุ่ม OK ด้านล่างของหน้าต่าง 1.6 จะเห็นว่ามีแถบสีแดงๆโผล่ขึ้นมา ขั้นตอนนี้จะเป็นการเลือกงานวิชาการหรือสื่อที่เราจะใช้อ้างอิงครับ ซึ่งวิธีการเลือกนั้น ก็แบ่งออกเป็นสองแบบครับ คือแบบ 1.*Modern view เลือกสื่อที่จะใช้อ้างอิงด้วยการพิมพ์ข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของสื่อนั้นๆ และ 2. Classic view เลือกสื่อที่จะอ้างอิงจาก list รายชื่อ ซึ่งทั้งสองแบบนี้จะใช้แบบไหนก็ได้แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน สุดท้ายก็สามารถอ้างอิงได้เหมือนกัน ผมจะอธิบายทีละแบบนะครับ 1.6.1 Modern view หรือก็คือเจ้าแถบสีแดงๆ ที่โผล่มาจากขั้นตอน 4.1 นั้น จะเป็นช่องที่เราใช้ในการพิมพ์ข้อมูลสื่อ ในแถบจะมีช่องให้สามารถพิมพ์ได้ วิธีการใช้งานก็คือ ถ้าเราจำชื่องานวิชาการได้(หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในชื่องานวิชาการก็ได้) เมื่อเราพิมพ์ลงไป โปรแกรมจะทำการแสดงรายชื่องานวิชาการที่ตรงกับที่เราพิมพ์ให้โดยอัตโนมัติ ให้เราคลิกเลือกงานวิชาการที่เราต้องการได้เลย 1.6.1.1 สาธิตวิธีการใช้งานแบบ Modern view ให้ทำการพิมพ์ข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของสื่อลงไปในช่อง จะพบว่าโปรแกรมจะทำการคาดเดา แล้วนำเอารายชื่อสื่อที่มีข้อมูลตรงกับที่เราพิมพ์มาแสดง ตรงนี้ให้เราคลิกสื่อที่ต้องการได้เลยครับ 1.6.1.2 โปรแกรมจะทำการจดจำว่าเราได้เลือกงานวิชาการนี้แล้ว โดยการดึงชื่อและปีที่ตีพิมพ์ของสื่อนั้นๆ มาแสดงอยู่ในช่องที่เราใช้พิมพ์ค้นหา 1.6.1.3 หากข้อความตรงจุดที่เราต้องการจะอ้างอิงนั้น มีงานวิชาการหรือสื่อที่เราจะอ้างอิงมากกว่า 1 ชิ้นขึ้นไป ก็สามารถพิมพ์ข้อมูลต่อลงไปได้เลย โปรแกรมจะทำการคาดเดาข้อมูลขึ้นมาให้เราเลือกอีกครั้ง (สังเกตเห็นใช่มั้ยครับว่าเหมือนระบบ tag friend ของ facebook เลย) 1.6.1.4 เมื่อเลือกสื่อที่จะใช้อ้างอิงเสร็จสิ้นแล้ว กดปุ่ม Enter แถบสีแดงจะหายไป ให้ลองสังเกตุบริเวณที่เคอเซอร์อยู่จะมีหมายเลขถูกแทรก ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าถูกต้องแล้วครับ หากมีจุดไหนที่ต้องการแทรกอ้างอิงอีก ก็ให้ย้อนกลับไปทำข้อ 1.4 ใหม่นะครับ รอบนี้จะสังเกตเห็นว่าโปรแกรมจะไม่ถามเราแล้วครับ ว่าเราจะ cite ด้วยรูปแบบไหนอีก(สามารถเปลี่ยน style การ cite ได้ ซึ่งจะอธิบายในท้ายบทครับ) อย่างไรก็ตาม ท่านผู้อ่านคงเห็นกันแล้วว่าการใช้งานแบบ Modern View นี้มีข้อเสีย ตรงที่ถ้าผู้ใช้งานไม่สามารถจำรายละเอียดเกี่ยวกับสื่อที่ตนจะอ้างอิงเลย ก็จะไม่สามารถพิมพ์คำที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงสื่อออกมาได้ ซึ่ง Classic view คือทางออกของปัญหานี้ครับ 1.6.2 Classic view การใช้งานแบบ Classic view การทำงานนั้นไม่ต่างกับ Modern view มากนัก แต่จะต่างกันตรงที่การดึงข้อมูล ซึ่งแบบ Classic view นั้นจะทำการ list รายการข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ใน Zotero มาให้เราทำการเลือกครับ 1.6.2.1 กลับไปยังขั้นตอน 1.6 เมื่อเราคลิกปุ่ม Insert Citation และ มีแถบสีแดงโผล่ขึ้นมาแล้ว สังเกตดูที่บริเวณซ้ายมือของปุ่มสีแดงจะมีปุ่มรูปตัว Z อยู่ ให้เราคลิกที่ปุ่มนี้ และเลือกมุมมองแบบคลาสสิค 1.6.2.2 จะปรากฎหน้าต่างขึ้นมาหน้าต่างหนึ่ง หน้าต่างนี้แหละครับ คือ Classic view ผมจะแนะนำส่วนประกอบของหน้าต่างนี้คร่าวๆ นะครับ 1. แฟ้มเก็บข้อมูล เป็นการแสดงแฟ้มข้อมูลที่เราได้จัดเก็บไว้ในโปรแกรม Zotero ซึ่งเราสามารถคลิกเพื่อดูข้อมูลภายในได้โดยการคลิกที่โฟลเดอร์เหล่านี้ 2. รายการข้อมูลสื่อที่จัดเก็บไว้ 3. แถบค้นหา สามารถพิมพ์ข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของสื่อที่เราต้องการ เพื่อค้นหา 4. Multiple Source เป็นปุ่มที่ใช้ในกรณีที่เราต้องการอ้างอิงถึงสื่อมากกว่า 1 ชิ้นในจุดเดียว 1.6.2.3 ตรงบริเวณจุดที่ 2 ในข้อ 1.6.2.2 ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ในการเลือกสื่อที่เราจะใช้อ้างอิงนี้ ให้เราคลิกเลือกสื่อที่เราต้องการ จากนั้นคลิกปุ่ม OK 1.6.2.4 สังเกตได้ว่าหมายเลขจะโดนแทรกเข้าไปยังที่เคอเซอร์อยู่แล้วครับ 1.6.2.5 ในกรณีที่ต้องการอ้างอิงสื่อมากกว่า 1 รายการในจุดเดียวนั้น จากขั้นตอนที่ 1.6.2.2 ให้คลิกที่ปุ่ม Multiple Source แทน 1.6.2.6 จะสังเกตเห็นได้ว่าหน้าตาของหน้าต่างจะเปลี่ยนไปเล็กน้อย 1. แถบอีกแถบหนึ่งที่โผล่ขึ้นนี้ จะทำหน้าที่บอกว่าเราได้เลือกข้อมูลอะไรไปแล้วบ้าง และแสดงถึงลำดับของการอ้างอิงด้วย 2. ลูกศรสำหรับการจัดกลุ่มข้อมูล โดยลูกศรทั้ง 4 จะมีหน้าที่ต่างกัน ลูกศรชี้ขวา: นำข้อมูลที่มีอยู่ใน Zotero ที่เราเลือกเข้ามาในกลุ่มที่จะทำการอ้างอิง ลูกศรชี้ซ้าย: ตรงกันข้ามกับลูกศรชี้ขวา คือนำข้อมูลที่เลือกอยู่ออกไปจากกลุ่มที่จะทำการอ้างอิง ลูกศรชี้ขึ้น: นำข้อมูลที่จะทำการอ้างอิงไปอยู่ลำดับต้น (เลข index จะเป็นเลขที่น้อยกว่า) ลูกศรชี้ลง: ตรงกันข้ามกับลูกศรชี้ขึ้น คือจะทำการเลื่อนลำดับการอ้างอิงไปอยู่หลัง 1.6.2.7 ทำการเลือกสื่อหรืองานวิชาการที่เราต้องการ โดยคลิกที่รายการนั้นๆ จากนั้นคลิกที่ปุ่มลูกศรชี้ขวา เพื่อทำการเพิ่มข้อมูลเข้าไปยังรายการที่จะทำการอ้างอิง 1.6.2.8 จะสังเกตเห็นว่าข้อมูลที่เราคลิกเลือก จะไปอยู่ในแถบรายการที่จะทำการอ้างอิง (ถ้าคลิกลูกศรชี้ซ้ายจะเป็นการทำตรงกันข้ามกัน นั่นก็คือจะเอารายการสื่อออกจากรายการที่จะทำการอ้างอิง) 1.6.2.9 Zotero ยังอนุญาตให้เราจัดเรียงลำดับของการ cite ได้ด้วย วิธีการก็คือในรายการที่จะทำการอ้างอิง ให้เราคลิกเลือกสื่อหรืองานวิชาการที่เราต้องการจัดเรียง จากนั้นคลิกลูกศรชี้ขึ้นหรือชี้ลง จะสังเกตได้ว่าลำดับของงานวิชาการจะเปลี่ยนไป 1.6.2.10 ทำการเลือกสื่อหรืองานวิชาการอื่นๆ ที่ต้องการ ตามขั้นตอน 1.6.2.7 จนครบตามที่ต้องการ เมื่อเลือกจนครบแล้ว ให้ทำการคลิกปุ่ม OK 1.6.2.11 หมายเลขจะถูกแทรกเข้ามาอยู่ในบรรทัด *ผู้เขียนใข้คำเรียกว่า Modern view เนื่องจากอีกมุมมองหนึ่งเรียกว่า Classic view ผู้เขียนจึงอนุมานเอาว่า น่าจะเรียกว่า Modern view 2. การจัดทำ reference list จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของโปรแกรม Zotero ก็คือสามารถดึงข้อมูลของสื่อแต่ละอย่างมาจัดทำบรรณานุกรมได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งช่วยประหยัดเวลา และลดความผิดพลาดจากการพิมพ์แบบ Manual 2.1 หลังจากที่ทำการ cite ระหว่างบรรทัด(ไม่จำเป็นต้อง cite เสร็จทั้งหมดก็ได้) ให้นำเมาส์ไปคลิกบริเวณที่เราต้องการวาง reference list เพื่อเลื่อนเคอเซอร์ไปยังจุดนั้น จากนั้นสังเกตที่แถบ Add-Ins และคลิกปุ่ม Insert bibliography (ปุ่มที่ 3 จากซ้าย) 2.2 เมื่อคลิก โปรแกรมจะทำการดึงข้อมูลของสื่อทั้งหมดที่เราทำการ cite ระหว่างบรรทัดมาจัดทำเป็น reference list ไว้ ณ ตรงจุดที่เคอเซอร์อยู่ Tip: หลังจากที่เราทำการวาง reference list ไปแล้ว หากมีการเพิ่มการ cite ระหว่างบรรทัดอีก reference list จะทำการ update ตัวเองให้ตรงกับการ cite ระหว่างบรรทัดโดยอัตโนมัติ ตอนนี้เราก็ได้ทราบถึงวิธีการ cite และจัดทำ reference list ไปแล้ว ตอนนี้ผู้เขียนขออนุญาตแนะนำปุ่มเครื่องมืออื่นๆ เพื่อที่เราจะสามารถใช้งาน Zotero ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น 3.1 ปุ่ม Zotero Edit Citation ใช้ในการแก้ไขการ cite ระหว่างบรรทัด 3.1.1 วิธีการใช้งานคือ ให้เรานำเมาส์ไปคลิกบริเวณหมายเลขที่เราได้ทำการ cite ระหว่างบรรทัดไว้ เมื่อคลิกแล้วจะสังเกตเห็นว่าตัวเลขจะเป็นแถบ hight-light สีเทาๆ 3.1.2 จากนั้นให้ทำการคลิกปุ่ม Zotero Edit Citation (ปุ่มที่สองจากทางซ้ายในเมนู Zotero) 3.1.3 จะปรากฎแถบสีแดงที่ใช้ในการ cite ขึ้นมา ตรงจุดนี้ให้เราทำการแก้ไขข้อมูลการ cite ได้ตามขั้นตอน 1. เลยครับ 3.2 Zotero Edit Bibliography ใช้ในการแก้ไข reference list (เพิ่ม, ลดรายการสื่อใน reference list) 3.2.1 นำเมาส์ไปคลิกบริเวณ reference list เมื่อคลิกแล้วจะสังเกตว่า reference list ทั้งหมดจะถูก high-light ด้วยสีเทา 3.2.2 คลิกปุ่ม Zotero Edit Bibliography รอสักครู่ จะปรากฎหน้าต่างของการจัดการข้อมูล Zotero 3.2.3 การจัดการข้อมูลใน reference list นั้น ใกล้เคียงกับการจัดการข้อมูลการ cite ในขั้นตอน 1.6.2.9 เมื่อเลือกข้อมูลได้ตามที่ต้องการแล้วให้กดปุ่ม OK จะพบว่า reference list ได้ถูกทำการ update ตามที่เรากำหนด 3.3 Zotero Refresh ยังไม่แน่ใจในการใช้งาน แต่คาดว่าน่าจะใช้ในการ refresh เพื่อให้ทำการแสดง cite และ reference list ให้แสดงข้อมูลตามการแก้ไขล่าสุด 3.4 Zotero Set Doc Pref ใช้ในการเปลี่ยนรูปแบบในการ cite ให้เป็น style อื่น เช่น Chicago, Elsevier เป็นต้น 3.5 Zotero Remove Codes เมื่อคลิกปุ่มนี้ จะเป็นการเปลี่ยน cite ระหว่างบรรทัด และ reference list ให้เป็น text ธรรมดา สังเกตได้ว่าเมื่อเรานำเมาส์ไปคลิกที่ reference list และ cite ระหว่างบรรทัด จะไม่พบว่ามีแถบ high-light สีเทาขึ้นมาอีก และจะไม่สามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อีก (ข้อดีคือจะทำให้ข้อมูลเป็น plain text และทำให้เราสามารถแก้ไขข้อมูลได้ตามใจชอบ) 3.5.1 วิธีการใช้งานให้เรานำเมาส์ไปคลิกบริเวณ reference list หรือ cite ระหว่างบรรทัด จากนั้นคลิกปุ่ม Remove Codes โปรแกรมจะย้ำเราว่าต้องการลบหรือไม่ ให้กดปุ่ม OK สุดท้าย ถ้าอยากเข้าใจการ cite แบบเห็นภาพ ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ลิงค์นี้ครับ http://www.youtube.com/watch?v=imSxa5MbXrc
10 02 2020
2724
จัดทำบรรณานุกรมด้วย Zotero: ให้ข้อมูลกับ Zotero
หลังจากที่อ่านมาสองตอน ตอนนี้เราจะเริ่มลงมือทำกันแล้วล่ะครับ ก่อนจะเริ่มลงมือทำ ก็ขออธิบายหลักการการทำงานของโปรแกรม Zotero อีกซักนิดเพื่อให้เราเห็นภาพของโปรแกรมได้ชัดขึ้น การที่จะมาเป็นบรรณานุกรมได้นั้น ก็มีวิธีการด้วยกันสองขั้นตอน ได้แก่ 1. นำข้อมูลเข้า ด้วยการพิมพ์ด้วยมือ, ดึงจากฐานข้อมูลออนไลน์, นำเข้าข้อมูลจากไฟล์ตระกูล reference และ 2. เปิดโปรแกรม Microsoft Word แล้วใช้โปรแกรม Zotero จัดเรียงข้อมูลต่างๆ มาวางในไฟล์ Microsoft Word ของเรา มีเพียงแค่สองขั้นตอนเองครับ สำหรับตอนนี้เราจะพูดถึงขั้นตอนแรกเป็นหลัก ขั้นตอนที่สองจะเป็นตอนหน้าครับ การนำข้อมูลเข้า ก็มีด้วยกัน สามวิธีด้วยกันครับ 1. พิมพ์ด้วยมือของเราเอง นำเอาข้อมูลของสื่อนั้นๆ มาพิมพ์ลงในช่องกรอกข้อมูลของโปรแกรม Zotero ข้อมูลที่ต้องกรอกก็ได้แก่ ชื่อสื่อ (ชื่อหนังสือ,ชื่อหัวข้อวิทยานิพนธ์, ชื่องานวิจัย), ปีที่ตีพิมพ์, ผู้แต่ง ฯลฯ ตามที่เห็นจากภาพด้านล่างเลยครับ(รูป)อย่างไรก็ตามวิธีนี้ เป็นวิธีการที่ผู้เขียนไม่แนะนำครับ เพราะเมื่อยมือ เสียเวลามานั่งพิมพ์ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการทำ reference ด้วยวิธี manual เลยครับ แต่ที่สอนเพราะเผื่อไปเจอสื่อที่ไม่มีในระบบฐานข้อมูลออนไลน์ แบบนั้นก็จำเป็นต้องพิมพ์มือเอาครับ 2. นำเข้าข้อมูลจากฐานข้อมูลออนไลน์ เป็นวิธีที่ผู้เขียนแนะนำเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะสะดวก ง่ายดาย รวดเร็วมาก ซึ่งก็มีด้วยกันสองวิธีครับ 2.1 ค้นหาด้วยเลข id โดยปกติแล้ว งานวิจัย หรืองานวิชาการที่เรานำมาใช้อ้างอิง (โดยเฉพาะทางด้านสาธารณสุข) ที่เรามักค้นมาจาก PubMed นั้น มักจะมีเลข ID กำกับอยู่ ซึ่งเรียกว่า PubMedID หรือ ISSN ซึ่งถ้าหากเรารู้เลขนี้ ก็สามารถดึงข้อมูลเข้ามายังโปรแกรม Zotero ได้ทันที ลองมองไปทางด้านบนของโปรแกรม เราจะเห็นรูปปากกาและมีเครื่องหมายบวกอยู่ข้างๆ เมื่อคลิก จะมีแถบๆ หนึ่งโผล่ออกมา ตรงนี้ให้เราใส่เลข PubMed ID ได้เลย ใส่เสร็จก็กดปุ่่ม Enter รอสักครู่ ถ้าเลขนั้นตรงกับรหัส PubMed ID โปรแกรม Zotero ก็จะทำการดึงข้อมูลของสื่อนั้นๆมาให้ทันทีครับ 2.2 ดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ ให้เราลองเข้าเว็บไซต์ www.pubmed.com แล้วลองค้นข้อมูลดู เมื่อผลการค้นหาออกมาแล้ว ลองสังเกตดูที่ช่อง URL จะพบว่ามีเครื่องหมายรูปแฟ้มโผล่ออกมา ให้ลองคลิกดู จะปรากฎหน้าต่างให้เราเลือกผลการค้นหาที่ต้องการ ซึ่งตรงนี้เราสามารถคลิกติ๊กถูกเฉพาะรายการที่เราต้องการได้ หรือคลิกที่ Select All เพื่อนำเข้าข้อมูลทั้งหมด เมื่อเลือกข้อมูลเสร็จแล้ว ให้คลิกที่ปุ่ม OK เพื่อนำเข้าข้อมูล จะพบว่า โปรแกรม Zotero ดึงข้อมูลผลการค้นหาทั้งหมดที่เราคลิกเลือกมาเก็บไว้ในโปรแกรม แต่ถ้าหากเราต้องการข้อมูลเพียงแค่ข้อมูลเดียว เราก็สามารถคลิกเข้าไปในผลการค้นหานั้น จะเห็นว่าจากรูปแฟ้มสีเหลือง จะกลายเป็นรูปกระดาษสีขาวแทน ก็ให้คลิกที่รูปกระดาษนี้ โปรแกรม Zotero ก็จะดึงข้อมูลนี้มาเพียงข้อมูลเดียวครับ 2.3 นำเข้าข้อมูลจากไฟล์ วิธีนี้ เป็นการนำเข้าข้อมูลจากเว็บไซต์ที่ให้ดาวน์โหลดไฟล์เพื่อนำไปทำ citation (เว็บไซต์ห้องสมุดคุณหญิงหลงฯของ ม.อ.ก็มี) หลายๆ ท่านที่เคยใช้โปรแกรม citation มาก่อน เช่น Endnote, Reference manager จะทราบว่าโปรแกรมสามารถนำเข้าไฟล์ข้อมูลจากไฟล์นามสกุล .bib หรือนามสกุลอื่นๆที่โปรแกรมรองรับเข้ามาได้ Zotero ก็เช่นกัน เข้าไปยังเว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดไฟล์ข้อมูล (ยกตัวอย่าง เช่น opac.psu.ac.th) ก่อนอื่นก็ให้เข้าค้นในเว็บไซต์ห้องสมุดคุณหญิงหลงฯ ก่อน เมื่อได้หนังสือหรือสื่อที่ต้องการแล้ว ให้คลิกเข้าไปในผลการค้นหานั้นๆ สังเกตดูจะมีปุ่มเป็นรูป diskette พร้อมคำว่า”ส่งออก” ให้คลิกเลยครับ เข้าสู่หน้าจอการส่งออกไฟล์ ให้คลิกที่รูปแบบที่จะส่งออกเป็นแบบ ReferBibIX แล้วคลิกที่รูปแผ่น diskette ที่มีคำว่า”ส่งออก” อีกครั้งครับ (สังเกตด้านล่างจะมีรายการหนังสือที่เราส่งออกอยู่ ให้แน่ใจว่ากล่องสี่เหลี่ยมด้านหน้ามีเครื่องหมายติ๊กถูกอยู่ด้วยนะครับ) จะขึ้นหน้าจอสำหรับ Save As ไฟล์ขึ้นมา ให้เราทำการ Save ไฟล์ตามวิธีการปกติเลยครับ เมื่อได้ไฟล์มาแล้ว ถ้าหากเรานำเข้าข้อมูลไปยัง Zotero เลย ข้อมูลที่ถูกส่งไปยังโปรแกรมจะเป็นภาษาต่างดาว ให้เราทำการเปิดไฟล์ขึ้นมาด้วยโปรแกรม Notepad จากนั้นให้ทำการ Save As ที่ด้านล่างของหน้าจอ Save As จะมีเมนูชื่อ Encoding อยู่ ให้เราทำการเลือกรูปแบบการเข้ารหัสเป็นแบบ UTF-8 แล้วทำการบันทึกไฟล์ตามปกติ ไปที่โปรแกรม Zotero คลิกปุ่มรูปเฟืองและเลือกเมนูแรกซึ้งชื่อว่า"นำเข้า" ดังในภาพ โปรแกรมจะให้เราทำการเลือกไฟล์ที่จะนำเข้า ให้เราไปคลิกเลือกไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาเก็บในเครื่องเมื่อสักครู่ โปรแกรมจะทำการดึงข้อมูลจากไฟล์ดังกล่าวมาเก็บไว้ ให้เรานำไปใช้งานได้ตามต้องการ พิเศษ การส่งออกข้อมูลในโปรแกรม Zotero ของเราไปใช้ยังเครื่องอื่น หรือให้แก่ผู้อื่น เหมาะกับเวลาที่เราใช้งานโปรแกรม Zotero ในคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ หรือมีผู้อื่น ขอข้อมูลจากเรา 1. คลิกขวาที่ชื่อข้อมูลที่เราต้องการส่งออก แล้วคลิกเลือก "ส่งออกรายการที่เลือก" 2. หรือในกรณีที่ต้องการส่งออกทั้งแฟ้มข้อมูล ก็สามารถไปคลิกขวาที่แฟ้มที่ต้องการส่งออก แล้วคลิกเลือก "ส่งออกคอลเล็กชั่น" 3. จะปรากฎกล่องข้อความเล็กๆ ขึ้นมา ตรงจุดนี้จะมีรายละเอียดดังนี้ครับ 1. รูปแบบ ตรงนี้จะเป็นการเลือกรูปแบบไฟล์ที่จะส่งออกไป ในกรณีที่จะส่งไปให้โปรแกรม Zotero ด้วยกันใช้ ผมแนะนำให้ใช้รูปแบบที่ชื่อ Zotero RDF แต่หากจะส่งไปใช้กับโปรแกรม reference อื่นๆ แนะนำเป็นรูปแบบ BibTex ครับ 2. ช่องเล็กๆ ที่ให้ติ๊กถูกสองช่องนั้น หากติ๊กถูกลงไป จะเป็นการแนบหมายเหตุที่เรากำหนดเองและไฟล์ที่ติดมากับข้อมูลไปด้วยครับ (เรามักจะได้ไฟล์มาด้วย เวลาดึงข้อมูลที่ทางเจ้าของงานวิจัยแจกจ่ายงานวิจัยให้ใช้ฟรีๆ) ตรงนี้ก็แล้วแต่ครับ ถ้าอยากจะเอาไฟล์หรือหมายเหตุไปด้วยก็ติ๊กถูกไปเลยครับ แต่ถ้ากลัวรกคอมพิวเตอร์ของท่าน ก็อาจจะละไว้ได้ครับ 4. คลิกที่ปุ่ม OK จะปรากฎหน้าต่างมาให้เราเลือกเซฟไฟล์ที่จะส่งออก ให้เราเลือกที่ๆเราต้องการ แล้วกดปุ่ม "Save" เพื่อทำการบันทึกไฟล์ครับ(รูป) 5. เมื่อได้ไฟล์มาแล้ว เราก็สามารถนำไฟล์นี้ไปนำเข้าด้วยโปรแกรม Zotero ที่อยู่กับคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึง ได้ตามวิธีในหัวข้อที่ 3 เลยครับ สำหรับตอนนี้จบเพียงเท่านี้ครับ ตอนหน้าจะเป็นขั้นตอนการทำบรรณานุกรมซักทีนะครับ หลังจากที่ปล่อยให้รอมาหลายตอน
10 02 2020
2174
«
1
2
»